หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

การเข้าจับกุมนั้นต้องมีเหตุให้เข้าตรวจค้นตัวได้ตามกฏหมายอาญา

 อานนท์ เชื้อสัตตบงกชติดตาม
20 พฤศจิกายน เวลา 10:05 น.
#หลายครั้งที่เราเผชิญหน้ากับตำรวจที่ด่านตรวจ แล้วถูกบังคับค้นตัว,ค้นรถ เมื่อโวยวายจะถูกตั้งข้อหาว่าดูหมิ่น และจับตัวเราไปโรงพัก เมื่อเราดิ้นรนไม่ไปก็จะหาว่าต่อสู้ขัดขวาง แถมพอถามชื่อเราไม่ตอบก็ยังหาว่าขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ต้องเจออย่างเคสนี้ ศาลฎีกาฟันธงยกฟ้องตำรวจทุกข้อหา!! อยากให้พวกเราดูไว้เป็นตัวอย่าง ถ้าตำรวจเขาทำไม่ถูกมาแต่แรก เราก็มีสิทธิต่อสู้ป้องกันตัวเองได้ทุกกรณี และไม่มีความผิดทุกข้อหาครับ!!!
#คำพิพากษาฎีกาที่ 8722/2555
1. อัยการโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2550 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
1.1 ตามวันเวลาดังกล่าวขณะที่ดาบตำรวจ ส. สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. เจ้าพนักงานตำรวจ สภ.อ. เมือง อ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่ตรวจค้น ปราบปรามและจับกุมผู้กระทำผิด ได้เข้าตรวจค้นจำเลยโดยมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสิ่งของผิดกฎหมายไว้ในครอบครองอันเป็นการกระทำตามหน้าที่ จำเลยได้พูดจาดูหมิ่นเจ้าพนักงานตำรวจว่า “คุณไม่มีสิทธิทำการตรวจค้น คุณไม่ใช่นายตำรวจ คุณเป็นแค่ตำรวจชั้นประทวน” และขณะที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. คืนกระเป๋าสตางค์ของจำเลยที่ตรวจค้นแล้วให้จำเลย จำเลยพูดดูหมิ่นเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองว่า “ตำรวจทำท่ามีพิรุธเหมือนจะยัดสิ่งของผิดกฎหมายให้ผม” ต่อมาขณะดาบตำรวจ ส. นำรถยนต์สายตรวจมารับจำเลย จำเลยพูดดูหมิ่นดาบตำรวจ ส.กับพวกว่า “พวกมึงเป็นตำรวจรังแกประชาชน จะยัดสิ่งของผิดกฎหมายให้กู กูจะไม่ให้มึงอยู่อ่างทอง” ดาบตำรวจ ส.กับพวกจึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
1.2 ขณะที่ดาบตำรวจ ส. กับพวก เข้าทำการตรวจค้นและจับกุมจำเลยอันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยต่อสู้ขัดขวางโดยใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการผลักหน้าอก ดาบตำรวจ ส. กับสิบตำรวจโท ก. ในขณะเดียวกันจำเลยใช้กำลังต่อสู้ขัดขวางขณะตำรวจจะนำตัวขึ้นรถยนต์สายตรวจโดยใช้เท้าถีบกระบะท้ายรถเพื่อขัดขวางไม่ยอมขึ้นรถและเพื่อมิให้ถูกจับกุม
1.3 ต่อมาจำเลยไม่ยอมบอกชื่อ ชื่อสกุลและที่อยู่แก่ดาบตำรวจ ส สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวถามชื่อจำเลยเพื่อแจ้งข้อหาและทำบันทึกการจับกุมอันเป็นการถามชื่อเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย
1.4 อัยการโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา91, 136, 138 วรรคสอง, 367
2. จำเลยให้การปฏิเสธเมื่อสืบพยานโจทก์ และจำเลยเสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 136 ให้จำคุก 2 เดือนและปรับ 2,๐๐๐ บาท ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง จำคุก 2 เดือนและปรับ 3,๐๐๐ บาท ฐานไม่ยอมบอกชื่อหรือที่อยู่แก่เจ้าพนักงานซึ่งถามเพื่อปฏิบัติการตามกฎหมาย ปรับ 1๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอไว้
3. จำเลยยื่นอุทธรณ์ ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
4. อัยการโจทก์ยื่นฎีกา ประเด็นขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกามีดังต่อไปนี้
การที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. ค้นตัวจำเลยเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. ค้นตัวจำเลยในที่สาธารณสถานซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิดหรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิด หรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด” แสดงว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถานไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นของกฎหมายดังกล่าว คดีนี้ ได้ความจากคำเบิกความของสิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. ว่า บริเวณหลังซอยโรงถ่านมีเหตุอาชญากรรมประเภทความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เป็นประจำ วันเกิดเหตุเข้าไปตรวจหลังซอยโรงถ่านแล้วไม่พบความผิดปกติ จึงได้ขับรถจักรยานยนต์ออกจากซอยดังกล่าวทางด้านท้ายซอย เมื่อมาถึงถนนซึ่งมีสนามเด็กเล่นและห้องน้ำเก่าตั้งอยู่ พบจำเลยนั่งโทรศัพท์อยู่ริมถนนจึงเข้าทำการตรวจค้น ซึ่งบริเวณที่เกิดเหตุการตรวจค้นอยู่บนถนนสุทธาวาส ไม่ได้อยู่หลังซอยโรงถ่านตามที่สิบตำรวจโทกรุงและสิบตำรวจตรีไพรัชอ้างว่ามีอาชญากรรมเกิดขึ้นประจำแต่อย่างใดและทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีท่าทางพิรุธ นอกจากนั่งโทรศัพท์อยู่ริมถนนสุทธาวาสเท่านั้น
ศาลฎีกาพิจารณาต่อไปว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าบริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนถนนสุทธาวาสไม่ใช่หลังซอยโรงถ่านและจำเลยไม่มีท่าทางเป็นพิรุธ คงเพียงแต่นั่งโทรศัพท์อยู่เท่านั้น การที่สิบตำรวจโท ก.และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่า เกิดความสงสัยในตัวจำเลยจึงขอตรวจค้น โดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดความสงสัยในตัวจำเลยจึงเป็นข้อสงสัยที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันควรสงสัยตามกฎหมายดังกล่าวที่จะทำการตรวจค้นได้ การตรวจค้นตัวจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อป้องกันสิทธิของตนตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใดๆ อันสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
หมายเหตุ
1. หลักตาม ป.อ. ที่ได้กระทำลงแล้วไม่เป็นความผิดนั้น มี 2 หลัก คือ หลักป้องกันตาม ป.อ.มาตรา 68 และหลักความยินยอม สำหรับคำพิพากษาฎีกา 8722/2555 นี้ จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่การกระทำของจำเลยตามพฤติการณ์แห่งคดีนี้ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา
2. ผลของการค้นโดยมิชอบ เกิดผลทางกฎหมายดังนี้
2.1 ผู้จะถูกค้นจะต่อสู้ขัดขวางการค้น ไม่มีความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 138
2.2 ผู้จะถูกค้นกระทำการโต้ตอบต่อผู้ค้นอ้างป้องกันได้ (ตามฎีกา 1053/2536)
2.3 เจ้าพนักงานผู้ค้นมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
2.4 ผู้ถูกค้นมีสิทธิฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้รับผิดในผลแห่งละเมิดตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
2.5 ตามข้อเท็จจริงตามฎีกานี้ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ค้นและจับกุมมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 ฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังด้วย
ข้อควรระวัง การเข้าจับกุมนั้นต้องมีเหตุให้เข้าตรวจค้นตัวได้ตามกฏหมายอาญา/.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น