หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2564

การร่อนหาทองคำในฉี่

 

เรื่องการตรวจหาสารเสพติดในร่างกายบุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเสพยาเสพติดมานั้น เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นอันมาก การตรวจจึงจำเป็นที่จะต้องกระทำโดยจำกัดเคร่งครัดในวงจัดกัดเฉพาะบุคคลที่มี “เหตุอันสมควร” เท่านั้น
กระผมจึงใคร่จะตั้งข้อสังเกตุให้แก่เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมไว้พิจารณาในเรื่องดังกล่าวไว้เป็นข้อๆ ดังนี้
ข้อ ๑ การตรวจหาสารเสพติดดังกล่าวนั้นไม่ใช่เหตุในความผิดซึ่งหน้า ที่เจ้าพนักงานจะสามารถดำเนินการจับกุมได้
ข้อ ๒ การตรวจหาสารเสพติดนั้น จะต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่เฉพาะโดยอาศัยกฎหมายเฉพาะเท่านั้น ไม่สามารถอาศัยเจ้าพนักงานตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้
ข้อ ๓ การตรวจหาสารเสพติดนั้น สามารถกระทำได้ถ้ามีเหตุตามที่กฎหมายกำหนดเกิดขึ้นพร้อมๆกันอยู่ ๒ อย่างคือ #ในกรณีจำเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อว่า “บุคคลใดเสพยาเสพติด”
ซึ่งจะต้องอธิบายให้ปรากฏในบันทึกการตรวจหาสารเสพติด ตามแบบบันทึกของเลขาธิการ ปปส และคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ไม่ใช่เขียนคลุมๆลงไปในบันทึกจับกุม ว่าจำเป็นต้องตรวจเพราะว่าเห็นมีท่าทางมีพิรุธ…..
…..โดยไม่เขียนอธิบายว่า จำเป็นอย่างไรต้องตรวจตอนนั้น ถ้าไม่ตรวจตอนนั้นแล้วปล่อยไปอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการหรือความไม่ปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของประชาชนอย่างไร....
.......และที่กล่าวว่ามีพิรุธนั้นมีพิรุธอย่างไร เช่นอาการไม่นิ่ง พูดจาเลื่อนลอย มีการอาการเหมือนคนประสาทหลอน มีความระแวงผู้คนทั่วไป ปืนหลังคาหรือเสาไฟ ทำร้ายบุคคลรอบข้าง เป็นต้น คำว่า #มีพิรุธ สั้นๆ จึงเป็นการกล่าวอ้างแบบลอยๆเท่านั้น
ผมเคยมีคำพิพากษาของศาลหลายคดี โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยท่าทางมีพิรุธ จึงมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการตรวจค้น จับกุม หรือตรวจปัสสาวะ ผลของการตรวจพบมีด ปืน และสารเสพติดในร่างกาย และเจ้าหน้าที่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำเลย ตั้งแต่ชั้นต้น อุทธรณ์ จนถึงฎีกา ก็ยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้เลยว่าเหตุอันสมควรเชื่อในท่าทางอันมีพิรุธ ดังกล่าวนั้นคืออะไร ?????
ข้อ ๔ การตรวจสารเสพติด ณ จุดตรวจแล้วให้ผลเป็นบวก (ฉี่ม่วง) เป็นแค่บุคคลต้องสงสัยว่าอาจเสพยาเสพติดเท่านั้น ไม่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเอาไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมตัวไปโรงพักก็ดีหรือควบคุมตัวไปตรวจหาสารเสพติดซ้ำอีกครั้งที่โรงพยาบาลหรือมหาวิทยาลัยของรัฐก็ตาม เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้จดชื่อที่อยู่เอาไว้แล้วจัดส่งแต่ตัวอย่างปัสสาวะไปตรวจยืนยันผลเท่านั้น
ข้อ ๕ โรงพยาบาลหรือมหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่ง ไม่ได้มีความสามารถในการตรวจแยกหาสารเสพติดได้ทุกๆโรงพยาบาล หรือทุกๆมหาวิทยาลัยของรัฐ และไม่ได้เป็น #สถานตรวจพิสูจน์ ยาเสพติดตามที่เลขาธิการ ปปส. กำหนดเอาไว้ในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ ๖ หลักเกณฑ์ วิธีการและข้อกำหนดในการตรวจหาสารเสพติดที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น ไม่ใช่เรื่องข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมเช่น ทนายความ พนักงานสอบสวน อัยการ รวมทั้งผู้พิพากษาด้วย สมควรจะต้องรู้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น