หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ห้ามถ่ายรูป ห้ามยึดบัตร ไม่ใช่ตำรวจทุกคนที่จะขอดูบัตรประชาชนได้

🙅🏼‍♀️🙅🏽ห้ามถ่ายรูป ห้ามยึดบัตร ไม่ใช่ตำรวจทุกคนที่จะขอดูบัตรประชาชนได้
.
ปัญหาหนึ่งที่ทำให้สงสัยกันว่า เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาขอตรวจบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทำได้หรือไม่?
.
+++ กฎหมายบังคับให้พกบัตรประชาชน
.
ในเรื่องบัตรประชาชนมีกฎหมายที่กำหนดไว้คือ พระราชบัญญัติบัตรประจําตัวประชาชน พ.ศ. 2526 ซึ่งมาตรา 5 กำหนดให้ ผู้มีสัญชาติไทยอายุตั้งแต่ 7 ปี บริบูรณ์ และไม่เกิน 70 ปี บริบูรณ์ และมีชื่ออาศัยอยู่ในทะเบียนบ้านต้องมีบัตรประชาชนตามที่กําหนดในกฎหมายนี้
.
ซึ่งในมาตรา 17 ของกฎหมายดังกล่าว กำหนดไว้ว่า "ผู้ถือบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป
ผู้ใดไม่สามารถแสดงบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ เมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตรขอตรวจ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท"
.
หมายความว่า ผู้ที่ถือบัตรประจำตัว อายุ 15 ปี ขึ้นไป มีหน้าที่ต้องพกบัตรประชาชนติดไว้กับตัว และแสดงบัตรประจำตัวกับเจ้าพนักงานตรวจบัตร เมื่อถูกขอตรวจ ไม่เช่นนั้นจะมีโทษปรับ 200 บาท ซึ่งถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ "เจ้าพนักงานตรวจบัตร" ที่สามารถขอตรวจได้ตามกฎหมาย (กรณีที่เด็กอายุ 7 ปี สามารถทำบัตรประชาชนได้ เป็นการให้ทำไว้ก่อน แต่ไม่ได้บังคับให้พกติดตัวตามกฎหมายฉบับนี้)
.
*ซึ่งโทษปรับที่มีกำหนดไว้ 200 บาท นั้น มีการแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมาเมื่อปี 2542 โดยเหตุผลการแก้ไขให้มีโทษปรับ 200 บาท คือ ความผิดเกี่ยวกับบัตรประชาชน กระทบความมั่นคง จึงแก้โทษให้หนักขึ้น
.
+++ "เจ้าพนักงานตรวจบัตร" นอกด่านตรวจ ต้องเป็นตำรวจยศร้อยตรีขึ้นไปเท่านั้น +++
.
เมื่อกฎหมายกำหนดให้ "เจ้าพนักงานตรวจบัตร" สามารถตรวจการพกบัตรประจำตัวประชาชนได้ แต่กฎหมายที่กำหนดว่าใครคือ "เจ้าพนักงานตรวจบัตร" บ้าง มีกำหนดไว้อยู่ใน คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 1496/2561 เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานตรวจบัตร
.
ซึ่งกำหนดให้ "เจ้าพนักงานตรวจบัตร" ได้แก่
1. ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอ และข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตรภายในเขตอำนาจหน้าที่
.
2. ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน และเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ตามด่านตรวจที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตร เฉพาะในด่านตรวจนั้น
.
3. ในเขตของกรุงเทพมหานคร ให้ผู้อำนวยการเขต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายทะเบียน หัวหน้าฝ่ายปกครอง หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ เจ้าพนักงานปกครอง และเจ้าพนักงานเทศกิจ เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตร เฉพาะในเขตนั้น
.
4. ให้ปลัดเมืองพัทยา รองปลัดเมืองพัทยา หัวหน้าสำนักปลัดเมืองพัทยา หัวหน้าฝ่ายทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน หัวหน้าฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบ นักจัดการงานทะเบียนและบัตร และนักจัดการงานเทศกิจ เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตร เฉพาะในเมืองพัทยา
.
5. ให้ปลัดเทศบาล รองปลัดเทศบาล หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาล ผู้อำนวยการกองทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน หัวหน้าฝ่ายทะเบียนราษฎร หัวหน้าฝ่ายบัตรประจำตัวประชาชน หัวหน้าฝ่ายทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน หัวหน้าฝ่ายปกครอง หัวหน้าฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบ นักจัดการงานเทศกิจ นักจัดการงานทะเบียนและบัตร และหัวหน้าฝ่ายและข้าราชการตั้งแต่ระดับปฏิบัติการขึ้นไปหรือเทียบเท่าซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎรหรือบัตรประจำตัวประชาชน เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตรในเทศบาลนั้น
.
ซึ่งหมายความว่าตามข้อ 1. "เจ้าพนักงานตรวจบัตร" ที่เป็นตำรวจสามารถขอตรวจบัตรประชาชนในพื้นที่ทั่วไปได้ ต้องเป็นตำรวจยศตั้งแต่ ร้อยตำรวจตรี ขึ้นไป เท่านั้น ส่วนตำรวจชั้นประทวนจะขอดูบัตรประชาชนได้ต้องอยู่ที่ด่านตรวจที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
.
เพราะฉะนั้นหากถูกขอตรวจบัตรประชาชน เราสามารถขอดูบัตรประจำตัวตำรวจว่าเป็นตำรวจจริงหรือไม่ และมียศระดับร้อยตำรวจตรีขึ้นไปหรือไม่ โดยเฉพาะตำรวจนอกเครื่องแบบ
.
+++ กฎหมายให้อำนาจหน้าที่ตำรวจตรวจการพกบัตรประชาชนเท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจถ่ายรูปบัตรประชาชน +++
.
จากที่กล่าวมาข้างต้น กฎหมายได้ให้อำนาจ "เจ้าพนักงานตรวจบัตร" หรือตำรวจ ในการตรวจการพกบัตร เพื่อให้ประชาชนแสดงบัตรประชาชนว่าพกมากับตัวหรือไม่เท่านั้น
.
แต่กฎหมายดังกล่าวไม่มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ ให้ตำรวจสามารถจะถ่ายรูปบัตรประชาชน หรือขอยึดบัตรประชาชนไว้กับตัวของตำรวจได้เลย เนื่องจากบัตรประชาชนของเราถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเราทั้งใบ การใช้สำเนาบัตรประชาชนยังต้องมีการเซ็นต์รับรองสำเนา
.
เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจตำรวจในส่วนนี้ไว้ ก็ไม่สามารถทำได้ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หากพบเห็นการกระทำอย่างนั้นสามารถถามตำรวจได้เลยว่าเขาใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายข้อใด ในการถ่ายรูปบัตรประชาชน หรือยึดบัตรประชาชนของเราไป
.
และถึงแม้ตำรวจจะตรวจบัตรได้แต่ก็ไม่ควรจะกระทำเกินสมควรเกินกว่าเหตุ จนกระทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมนั้น
.
.
๐ พระราชบัญญัติบัตรประจําตัวประชาชน พ.ศ. 2526 : http://www.krisdika.go.th/librarian/get…
๐ คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 1496/2561: http://www.krisdika.go.th/librarian/get…
อ่านทั้งหมดได้ใน: https://freedom.ilaw.or.th/node/799

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น